คุณเชื่อในกรรมหรือไม่?
พุทธศาสนาสอนเรื่องกฎแห่งกรรม...
กฎ คือสิ่งที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า อะไรคืออะไร
กฎแห่งกรรมคือ คุณทำอะไรไว้สิ่งนั้นก็จะติดตามตัวคุณไปตลอด(ในรูปแบบพลังงานอย่างหนึ่ง)จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องชดใช้
ทำกรรมดีสิ่งที่จะตามมานั้น เป็นสิ่งดีเรียกว่าบุญ
ทำกรรมชั่วสิ่งที่จะตามมานั้น เป็นสิ่งไม่ดีเรียกว่าบาป
ก็เหมือนกฎแห่งแรงดึงดูดของโลก ซึ่งหากคุณถ่มน้ำลายรดฟ้า น้ำลายของคุณย่อมที่จะตกลงมาบนหัวคุณแน่นอน(นอกจากคุณจะหลบทัน)
ก้อนหินที่คุณโยนลงน้ำย่อมกระเพื่อมแรงตามขนาดของก้อนหินเช่นกัน...
โยนก้อนหินใหญ่ลงน้ำ แต่จะให้น้ำกระเพื่อมเพียงลมปากเป่าก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน
ต่อชะตา-สะเดาะเคราะห์ล้างกรรม
เราทำกรรมใหญ่เอาไว้ เช่นชาติก่อนเราเคยไปตัดรอนชีวิตเขา ทำให้เขาเสียชีวิตที่ๆควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกสี่สาห้าสิบปี...กว่าจะได้เกิดอีกก็ต้องจมอยู่ในภพภูมิแห่งความเคียดแค้น พยาบาท ฝังจิตฝังใจเพราะตายด้วยความทรมาน และ ไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ทันได้ทำใจ...อยู่นานนับเป็นกัปเป็นกัลป์ เท่าใดก็ไม่อาจทราบได้ แต่เมื่อมีโอกาสแล้วคุณจะขอให้เขาอโหสิกรรมให้โดยง่ายนั้นจะทำได้จริงๆเหรอ
ความเป็นจริงแล้วเขายังจะคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกนับเท่าทวีคูณเป็นดอกทบต้นน่าจะเป็นเรื่องที่จริงกว่าไม่ใช่หรอกหรือ
ผมไม่เข้าใจว่าการสะเดาะเคราะห์ นั้นเขาทำกันอย่างไร ใช้หลักวิชาอะไร หรือถือเคล็ดลับอะไรมาแก้วิบากแห่งกรรม หรือกฎแห่งกรรม กฎซึ่งพระพุทธองค์ก็ยังคงหลีกหนีไม่พ้นดังคำสอนก่อนดับขันปรินิพพานว่า “เราก็หนีไม่พ้นซึ่งกรรม”
แม้พระอัครคสาวกเบื้องขวาซึ่งได้ชื่อว่าเป็น เอกทัตฆะ(มีความเป็นเลิศ)ด้านการแสดงฤทธิ์เดช พระนามว่าพระโมคฆัลลานะ ยังคงต้องยอมรับทุกขเวทนาจากกรรมในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยโดนเขามาทุบตีจนกระดูกแหลกละเอียด เพื่อจะได้ชดใช้กรรมให้หมดก่อนที่จะเข้าสู่พระนิพพาน ก่อนดับขันท่านใช้อิทฤทธิ์ครั้งสุดท้ายต่อกระดูกตนเอง เพื่อเดินทางไปกราบททูลลาองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุให้เกิดพระคาถาบทหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า พระโมคฆัลลาต่อกระดูก นั่นเอง
คุณเชื่อในกรรมหรือไม่?
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องกฎแห่งกรรม และ...พระพุทธศาสนาสอนในเรื่องของสติ ปํญญา
หากเรื่องการทำพิธีดังกล่าว(ซึ่งไม่ได้กล่าวอ้างโดยเจาะจงถึงสถานที่ใด)
หากจะใช้สติไตร่ตรองดูก็อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้างในส่วนของจิตใจ โดยผู้เข้าร่วมพิธีคิดโดยมีจิตตั้งมั่นอยู่ในกุศลอยากทำบุญเป็นหลัก โดยมีจิตใจใฝ่ในการทำบุญกับคนหมู่มาก หวังอานิสงผลบุญจะได้ใหญ่ขึ้นด้วยแรงแห่งการอนุโมทนาตามต่อกัน ภาพของมวลชนคนหมู่มากร่วมทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากความตั้งใจที่ร่วมกันก็ทำให้เกิดความปีติตื้นตัน ซึ่งก็ทำให้เกิดสุขได้เช่นกัน อันความสุขนี้แหละที่เป็นตัวบุญ ไอ้พิธีกรรมที่ได้มาร่วมก็ให้ถือว่าเป็นของแถม คิดอย่างสบายใจ อย่าคิดโลภว่าบาปกรรมจะหมดไป ทำสิบอย่าอยากได้อยากมีเป็นล้าน เป็นการค้ากำไรเกินควรดังคำที่ท่านพุทธทาส เคยกล่าวไว้ อันความหวังคนเรานี้ก็เป็นเรื่องปกติ หวังกับอยากมันคนละเรื่อง ความอยากนั้นมันเป็นกิเลส มันโลภ มันเป็นการขวนขวายอยากได้อยากมี พอไม่ได้ไม่มีแล้วมันก็ทุกข์ แต่ความหวังเรารู้เราสัมผัสมันอยู่ในใจ อย่างเข้าใจว่ามันยังมีหวังอยู่ มันเปรียบเสมือนน้ำทิพย์โชลมหล่อเลี้ยงจิตใจ คือถึงมันจะยังแต่ก็จะเป็นความจริงขึ้นสักวัน แต่ตัวอยากนี้มันไม่มีเหตุผลล่ะ คืออยากมันไม่ได้ดูพื้นฐานความเป็นจริง
คนบางคนอยากได้อยากมีจนทุกวันนี้แม้แผ่นดินเกิดยังอยู่ไม่ได้ เพราะอยากจนขาดสติทำให้เกิดกิเลส ความโลภ ซึ่งมันทำให้เป็นทุกข์ หากละกิเลสความโลภตัวนี้ได้แล้วล่ะก็ ถึงไม่ได้มีเงินเป็นแสนเป็นล้านก็ช่าง...สุขมันเกิดเลย...
ขอความสุขจงมีแด่คุณครับ
ความสุขเกิดง่ายๆ เกิดขึ้นได้จากการแบ่งปัน