ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมแบ่งปัน...คนเรายิ่งอยากได้ก็เหมือนยิ่งขาด ต้องไขว่คว้าหาสิ่งที่ขาดมาเติมเต็ม แต่เติมเท่าไหร่ก็ไม่เคยเต็ม...ในทางกลับกัน...ยิ่งเราให้ก็ยิ่งเหมือนได้รับ...สังคมแห่งการแบ่งปันจะยิ่งเพิ่มพูนด้วยความสุขความเจริญ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เรื่อง บุญคุณ ยายแก่ๆ ปาท่องโก๋ รถเมล์ ความเกรงใจ

              ดูเหมือนว่าบุญคุณนั้นจะทดแทนกันไม่หมด
ผู้เริ่มให้ก่อน=ผู้มีพระคุณ
เพราะการให้เป็นความดี การให้จึงเป็นบุญ
การให้ก่อน ให้โดยไม่ต้องได้รับการร้องขอ ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนั้นเป็นบุญคุณ


        เช้าตรู่วันหนึ่ง เป็นวันสบายๆเพราะผมตกงาน ผมตื่นขึ้นมารับแสงอาทิตย์และสูดอากาศที่ยังเจือด้วยละอองหมอก ดูเหมือนว่าแสงอาทิตย์ที่เพิ่มจะมาไล่ความชุ่มชื้นของหมอก แต่ถ้าผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วล่ะก็มันช่างสดชื่นนัก เริ่มวันใหม่ในบรรยากาศเย็นสบาย หลายชีวิตต่างออกมาหากินอย่างกระปรี้กระเปร่า บ้างเริ่มงานกระฉับกระเฉง ภาพการใส่บาทช่างอิ่มเอมใจน่าอนุโมทนา
            ร้านโจ๊กเป็นรถเข็นมีโต๊ะเล็กๆเพียงสองตัววางติดรั้งสังกะสี เหลือเก้าอี้ว่างตัวเดียว ผมจึงแทรกกายลง นั่งตรงข้ามมียายแก่ๆนั่งอยู่ก่อนแล้ว ผมสั่งโจ๊กใส่ไข่...ติดร้านโจ๊กเป็นร้านขายปาท่องโก๋ ผมชอบกินโจ๊กกับปาท่องโก๋ เพราะว่ามันเข้ากันได้ เหมือนข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง หรือขนมปังสังขยา ฯลฯ ใจอยากจะกินสักสองสามตัว แต่ผมเป็นคนขี้เกรงใจ แบบว่า ถ้าซื้อถั่วงอกก็แหม ห้าบาทมันเยอะไป กินคนเดียวไม่หมด ซื้อไปทิ้งเสียดาย สองบาทได้ใหมครับ แบบนี้ผมจะไม่กล้าเลย กรณีนี้เหมือนกัน สรุปว่าไม่เอาก็ได้ ปาท่องโก๋
ระหว่างผมคิดอยู่นั้นเหมือนยายที่นั่งตรงข้ามจะรู้ใจ ลุกไปซื้อปาท่องโก๋สามตัวมาวางให้ผมบอก เอ้า กินนะลูก โจ๊กผมยังไม่ทันมาแกก็ลุกจากไป
ยายแก่ๆใส่เสื้อผ้าสีมอๆขาดๆ หิ้วถุงพลาสติกใส่ของเก่าๆพะรุงพะรัง กับร่มอีกคัน ไม่รู้จักกันแต่ซื้อของให้ผม ถึงแม้จะเป็นแค่ปาท่องโก๋ ก็ทำให้ผมนึกสงสัย งุนงง  
        เป็นการให้ที่ผมไม่ได้ขอและคิดว่ายายก็คงไม่ได้หวังอะไรจากผมเหมือนกัน
        ผ่านไปประมาณสามเดือนผมได้งานใหม่แล้ว กำลังเดินข้ามสะพานลอย และกำลังรีบ เห็นลิบๆตั้งแต่ก่อนขึ้นสะพานแล้วว่ารถที่ต้องขึ้นกำลังมา จึงกึ่งเดินกึ่งวิ่งต้องไปขึ้นให้ทัน เพราะเป็นรถเมล์ฟรีด้วย ทันใดนั้นเองแลเห็นที่กลางสะพานลอยมียายแก่ๆนั่งกางร่มเก่าๆกำลังขอทานอยู่ผมจำแกได้แม่น... ยายปาท่องโก๋!!!”
            ผมแต่งตัวดีมีงานทำ และกำลังรีบเพราะเห็นรถเมล์ฟรี วิ่งเลยยายไปและกำลังจะลงสะพาน
            ยายแก่ๆยกมือไหว้คนเดินผ่านไปมาอยู่ปะหลกๆขอทานเศษเงิน
ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ต้องทำ ยายต้องขอคนอื่นเพราะไม่มีลูกหลาน
ยายที่จำเป็นต้องขอทานเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอด แต่เคยหยิบยื่นให้เราโดยเราไม่ต้องขอ
            คิดได้ดังนั้นมันก็สะดุดใจ...หยุดกึกกลางสะพาน พลางนึก นี่เราเป็นคงยังไง? น้ำตาเริ่มซึม
            และหันหลังกลับ ปล่อยรถเมล์ฟรีแล่นเลยผ่านไป
ใจเย็นขึ้นแล้ว ควักเหรียญบาททั้งหมดที่มีอยู่ในกระเป๋าใส่ขันให้ป้า แล้วรีบจากมาเพราะน้ำตาพาลจะไหล คนก็เยอะ เขาเห็นภาพแล้วจะมองว่า ไอ้บ้านี่ให้เงินขอทานแล้วมึงร้องให้ทำไม
ไม่รู้ว่าเป็นน้ำตาที่นึกเสียใจ ว่าตัวเองช่างเห็นแก่ตัว หรือน้ำตาที่ซาบซึ้งถึงวีรกรรมในอดีตของป้า ที่ป้าสอนเราให้รู้จักการให้ ทั้งที่ตัวเองก็ยังมีอาชีพขอ
ระหว่างรอรถเมล์ก็เตรียมเงินในกระเป๋าไว้จ่ายค่าโดยสาร โอ้แม่จ้าว...เหลือแบงค์ห้าร้อยใบเดียว นึกว่าใบปลีกจะหลงเหลืออยู่บ้าง รถเมล์ก็มาพอดี ยังไงเนี่ย ถ้าจ่ายแบงค์ห้าร้อย มีหวังโดนกระเป๋าด่า ชั่วโมงเร่งด่วนด้วย แทบไม่ต้องคิด เดินไปแลกที่เซเว่น...พลาดรถเมล์คันที่สอง เพราะความเกรงใจ
ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี แต่ทำไมมันต้องมากับปัญหาด้วย
            เซเว่นก็ไกลโขอยู่ เดินกลับมายังไม่ถึง ก็รู้ตัวว่าพลาดรถเมล์คนที่สามไปแล้ว เพราะเค้าไม่จอดนอกป้าย (แต่บางคันก็จอดไม่เคยตรงป้าย)
            ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเมื่อมีโอกาศข้ามสะพานนั้น ถ้ามีป้า ผมไม่เคยลังเลที่จะให้เงินป้า ในเมื่อป้าเคยให้เราโดยไม่ต้องขอ แล้วเมื่อป้าขอ ทำไมผมจะให้ป้าไม่ได้

            ยิ่งคุณให้ คุณจะยิ่งได้รับ
            ทุกวันนี้ความเกรงใจก็เป็นคุณสมบัติติดตัวผมอยู่ มันก็เหมือนกับนิสัยติดตัวของคนไทย คือขี้เกรงใจ และนิสัยอีกอย่างหนึ่งของคนไทยคือชอบขอ ขอโชค ขอลาภ ขอให้รวย ขอให้ได้งาน ขอให้ได้เลื่อนขั้น ขอนั่น ขอนี่ ได้นู่นจะเอานี่ไม่มีความพอ
            ยายปาท่องโก๋ของผมมีอาชีพขอ แต่แกขอเพียงแค่ประทังเลี้ยงชีพในแต่ละวัน แต่โดยจิตใจแล้วแกคงไม่พิศวาศการขอเท่าใดหรอก เพราะผมเคยประสบกับตัวเองมาแล้วว่า ถ้าให้ได้แกก็จะให้  และเป็นการให้โดยไม่หวังสิ่งใด ให้ด้วยใจบริสุทธิ์ นั่นเป็นความสุขที่สุด...
และที่สำคัญ แกให้ อย่างไม่ต้องเกรงใจ
            บุญหนุนนำ ธรรมรักษาครับ
blog comments powered by Disqus